พระธาตุ คือ พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และสถานที่ หรือ พระเจดีย์ที่มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุ ดังนั้น และในชีวิตของเรา ครั้งหนึ่งควรหาโอกาสเดินทางไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตนเอง เพื่อความเป็นสิริมงคลกับชีวิต
คติการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด
เมื่อคนเราตายไปดวงวิญญาณจะสิงสถิต ที่พระธาตุประจำปีเกิดของแต่ละคนก่อนที่จะไปเกิดเป็นมนุษย์เพราะฉะนั้นควรจะไปนมัสการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด เพื่อความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต
เพราะเหตุใด พระธาตุประจำปีเกิดจึงต้องอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ
ในสมัยก่อน อาณาจักรล้านนา ล้านช้าง และพม่า ต่างเป็นแว่นแคว้นข้างเคียงที่มีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกันมาก่อน การกำหนดให้มีการไหว้พระธาตุประจำปีเกิดจึงเป็นกลไกอย่างหนึ่งของการเดินทางติดต่อกันทำให้คนแต่ละเมืองที่อยู่ในเขตวัฒนธรรมเดียวกัน มีความสัมพันธ์ไปมาหาสู่กันได้อย่างใกล้ชิดขึ้น
หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พุทธศาสนิกชนต่างก็ให้ความสำคัญต่อ พระบรมสารีริกธาตุ หรือ กระดูกของพระพุทธเจ้า ซึ่งมักจะเรียกกันสั้น ๆ ว่า พระบรมธาตุ หรือ พระธาตุ เป็นอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นเศษส่วนจากพระวรกายที่เหลืออยู่ไม่มากนัก จึงทำให้ต้องเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ในสมัยโบราณมีการประดิษฐานพระบรมธาตุไว้ใต้เนินดินรูปครึ่งวงกลม แล้วปักฉัตรไว้ด้านบนเพื่อยกย่องและแสดงเกียรติยศของผู้ตายตามธรรมเนียมอินเดียโบราณ
ต่อมาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดและแจกจ่ายพระบรมสารีริกธาตุออกไปบูชายังเมืองต่าง ๆ ทำให้มีการสร้างสถูปบรรจุพระบรมธาตุขึ้นทั่วไป โดยมีรูปแบบแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น สถูปเจดีย์สำคัญของบ้านเมืองต่าง ๆ ล้วนได้รับการอธิบายว่าเป็นสถานที่บรรจุพระบรมธาตุ
ฉะนั้นบางครั้งจึงนิยมเรียกสถูปเจดีย์เหล่านั้นว่า พระธาตุ ซึ่งหมายถึง พระบรมธาตุซึ่งบรรจุอยู่ภายในสถูปเจดีย์นั่นเอง ดังนั้น การไหว้สถูปเจดีย์ ไม่ว่าจะมีรูปทรงงดงามแปลกพิศดารเพียงใดก็ตาม แต่หัวใจของการไหว้ที่แท้จริงแล้วก็คือ การกราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้าที่บรรจุอยู่ภายในสิ่งก่อสร้างเหล่านั้น ดังนั้น การสักการะจึงควรกระทำด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลศตัณหา และที่สำคัญ ต้องระลึกเสมอว่า พระบรมธาตุไม่ใช่ผู้บันดาลสิ่งต่าง ๆ จึงไม่ควรขอสิ่งใดนอกจากสวัสดิมงคล
ในล้านนาทำไมต้องห้ามผู้หญิงขึ้นบริเวณรอบพระธาตุเจดีย์
เนื่องจากในสมัยโบราณนิยมบรรจุพระบรมธาตุไว้ในกรุที่อยู่ใต้เจดีย์ เมื่อมีความเชื่อว่าผู้หญิงเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์จากการมีรอบเดือน ทำให้มีข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิงอยู่เหนือพระบรมธาตุ แม้ในระยะผิวดินด้านบนก็ตาม ไม่เช่นนั้น จะทำให้พระบรมธาตุเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์และไม่แสดงปาฏิหาริย์อีกต่อไป การห้ามไม่ให้ผู้หญิงขึ้นไปบริเวณรอบพระธาตุเจดีย์นั้น เป็นข้อปฏิบัติที่เข้าใจกันดีในหมู่ชาวล้านนา ป้ายที่ติดไว้ตามศาสนสถานสำคัญ ๆ ของชาวล้านนาจึงมีไว้เตือนคนต่างถิ่นให้ทราบและปฏิบัติตาม
ปีฉลู (ปีวัว) – พระธาตุลำปางหลวง (ลำปาง)
ปีฉลู เป็นปีที่สองของปีนักษัตร (ธาตุดิน) มีสัญลักษณ์เป็นรูป “วัว” พระธาตุประจำปีเกิดนี้คือ พระธาตุลำปางหลวง แห่งวัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ อ.เกาะคา จ. ลำปาง พระธาตุแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมแห่งสกุลช่างลำปางปรากฎอิทธิพลไทลื้อ วัดพระธาตุลำปางหลวงเลื่องลือในปาฏิหารย์ของพระธาตุที่สะท้อนเป็นภาพกลับหัวในพระวิหาร และมณฑป
ประวัติพระธาตุลำปางหลวง (วัดพระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง) ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระเถระสามองค์ได้เสด็จจาริกไปตามบ้านเมืองต่างๆ จนถึงบ้านสัมภะการีวัน (บ้านลำปางหลวง) พระพุทธเจ้าได้ประทับเหนือดอยม่อนน้อย มีชาวลัวะคนหนึ่งชื่อ ลัวะอ้ายกอน เกิดความเลื่อมใส ได้นำน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้างมะพร้าว และมะตูมมาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ฉันน้ำผึ้งแล้วทิ้งกระบอกไม้ป้างไปทางทิศเหนือ แล้วทรงพยากรณ์ว่า สถานที่แห่งนี้ต่อไปจะมีชื่อว่าลัมพกัปปะนคร แล้วได้ทรงลูบพระเศียรได้พระเกศามาหนึ่งเส้น มอบให้แก่ลัวะอ้ายกอน ลัวะอ้ายกอนได้นำพระเกศานั้น บรรจุในผอบทองคำ และใส่ลงในอุโมงค์พร้อมกับถวายแก้วแหวนเงินทองเป็นเครื่องบูชา แล้วแต่งยนต์ผัด (ยนต์หมุน) รักษาไว้ และถมดินให้เรียบเสมอกัน แล้วก่อเป็นพระเจดีย์สูงเจ็ดศอกเหนืออุโมงค์นั้น ในสมัยต่อมาก็ได้มีกษัตริย์อีกหลายพระองค์ มาก่อสร้างและบูรณซ่อมแซม จนกระทั่งเป็นวัดที่มีความงามอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
คำบทสวดบูชาพระธาตุลำปางหลวง (ประจำปีฉลู) (ตั้งนโม 3 จบ)
ยาปาตุภูตา อะตุลานุภาวาจีรัง
ปะติฎฐาลัมภะ กัปปะปุเร
เทเวนะ คุตตา อุตตุราภิทัยยา
นะมามิ หันตัง วะระชินะธาตุง
กุมาระกัสสะปะ นะลาตะธาตุโย
เมฆิยะมะหาเถโร กะนะธาตุง ฐะเปติ
มหาฐาเน เจติยัง ปูชิตา นะระเทเวหิ
อะหังวันทามิ ธาตุโย