ตำนานชาติเวรและหลักโหราศาสตร์ในเล่มนี้เกิดขึ้นจากการค้นคว้าจากตำรับตำราโบราณ และได้เรียบเรียงโดยท่านอาจารย์ ส.วรศิลป ซึ่งจะนำเสนอเรื่องราวและตำนานที่มีมาแต่โบราณกาล มาให้ท่านผู้อ่านได้ศึกษาและสนใจ ได้รู้เรื่องหลักเกณฑ์ในการพยากรณ์ การใช้สี เครื่องแต่งกาย และการบูชาพระประจำวันเกิด ตามตำนานโบราณที่ได้บันทึกไว้
หากบทความเล่มนี้ ได้อำนวยประโยชน์ให้ท่านผู้อ่านและท่านผู้ศึกษาโหราศาสตร์ ตามความประสงค์แล้ว ทางเราขออุทิศผลบุญกุศลในการเผยแพร่นี้ ให้แด่ ท่านอาจารย์ ส.วรศิลป และท่านปรมาจารย์ โหราศาสตร์ทั้งหลาย ที่ได้กรุณาเผยแพร่ให้วิชาโหราศาสตร์ได้คงอยู่ต่อไปชั่วกาลนาน ทางเราหวังว่า “ตำนานชาติเวร” นี้ จะเป็นประโยชน์ต่อท่าน และขอให้ท่านผู้อ่านและท่านผู้ศึกษาวิชาโหราศาสตร์ จงประสบความสำเร็จ สมดังปรารถนาทุกประการเทอญ.
พระพฤหัสบดี
ตำนานโหราศาสตร์กล่าวไว้ว่า พระอิศวรผู้เป็นเจ้า สร้างขึ้นจากฤๅษี 19 ตน คือ ทรงร่ายเวทให้กายฤๅษี 19 ตนนั้นละเอียดลง แล้วเอาผ้าสีแสด (Bright Red, Orange) ห่อผงนั้น ประพรมด้วยน้ำอมฤต ก็บังเกดเป็นองค์พระพฤหัสบดีขึ้นมา มีสีกายเป็นสีแก้วไพฑูรย์ ทรงทิพยอาภรณ์ สุวรรณรัตนรูจี แจ่มด้วยมุกดาหาร และมีวิมานเป็นสีบุษรากับทรงมฤคราช (กวางทอง) ในอธิไทยโพธิบาทว์ กล่าวว่าทรงมณฑก (กบ) พระพฤหัสบดี มีมณฑกนั้นเป็นพาหนะสถิตใน ปัจฉิมทิศ
ตำนานกล่าวว่า
ก. กาลครั้งหนึ่ง พระพฤหัสบดีเกิดเป็นนกอีลุ้ม พระจันทร์เกิดเป็นเหยี่ยว บินมาจับนกอีลุ้ม นกอีลุ้มจึงหันไปหลบ ซุกซ่อนอยู่ในรอบเท้าโค เหยี่ยวบินโผลงมาปะทะมูลดินแห้งกับรอยเท้าโค อกแตกตาย
ข. ในกาลสมัยหนึ่ง พระจันทร์มีความกำเริบเพราะเหตุที่ทำพิธีราชสูระสำเร็จ จึงไปลอบลักพานางดารา ผู้ซึ่งเป็นชายาแห่งพระพฤหัสบดีมา ครั้นผัวติดตามไปขอคืน ก็ไม่ยอมให้ ผลสุดท้ายเลยเกิดรบกันใหญ่ ระหว่างพวกเทวดากับเทวดาที่เรียกกันว่า “เทวาสุรสงคราม” ผลของการรบสงบลงด้วยมีพระพรหมมาห้าม และบังคับให้พระจันทร์ส่งนางดาราคืนให้แก่พระพฤหัสบดี แต่ในในระหว่างที่นางดาราได้ไปตกอยู่กับพระจันทร์ จึงได้เสียกับพระจันทร์จนมีครรภ์กับพระจันทร์แล้ว ภายหลังเมื่อประสูติโอรสออกมา คือ พระราหู
ตามหลักพยากรณ์
พระพฤหัสบดี เป็นดาวขนาดใหญ่รองลงมาจากพระอาทิตย์ สร้างขึ้นจากพระฤๅษี ตามธรรมดาพระฤๅษีต้องแก่กล้าไปด้วยวิชาอาคม เวทมนต์ ญาณต่างๆ ดังนั้น พระพฤหัสบดีจึงมีอำนาจอิทธิฤทธิ์และอิทธิพลมาก เป็นเจ้าแห่งศิลปวิทยาการทุกประเภท มีศีลมีธรรมอันสูงส่ง ผู้ใดมีพระพฤหัสบดีกุมลัขณา ถือว่าเป็นโกมุท เกณฑ์มีกลิ่นหอม เป็นที่เคารพบูชาของสมณชีพราหมณ์ทั้งหลาย ดาวพระพฤหัสบดีเสมอด้วยพระอิศวร คือเจ้าแห่งดาวนพเคราะห์ทั้งหลาย มีความรู้ความสามรถชำนาญในทางไสยศาสตร์ ไตรเภทต่าง ๆ กอปรด้วยมีใจเมตตากรุณาปราณี โอบอ้อมอารีเอื้อเฟื้อ สุขุมรอบคอบละเอียดถี่ถ้วน ไม่ให้โทษแก่ผู้ใด เพียงแต่ไม่ช่วยเท่านั้นก็พอแล้ว ถ้าได้เป็นศัตรูกับใครแล้วร้ายกาจนัก ถึงกับวอดวายฉิบหายขายตนทีเดียว
ผู้ที่มีพระพฤหัสบดีเป็นศัตรู นับว่าเคราะห์ร้ายที่สุด ในการดูดวงชาตาการพยากรณ์ทั้งหลาย ก็ต้องดูพระพฤหัสบดีเป็นลักขณาก่อนอื่นเสมอ มิตรของพระพฤหัสบดีก็คือพระอาทิตย์ เพราะเป็นบุตรเขย ส่วนพระอังคาร พระเสาร์ แ ละ ราหู ใน ๓ ดวงนี้ ถ้าไปต้องกันเข้าเมื่อใด เจ้าชาตามักได้รับความเดือดร้อน แต่ได้ไปถูกพระอาทิตย์ พุธ ศุกร์ ก็จัดว่าดีได้ หากไปกับพระจันทร์ ซึ่งเป็นธิดาแล้ว บิดาสั่งสอนธิดาไม่ยอมเชื่อถ้อยคำของบิดา กลับโกรธบิดา ครั้นบิดาลงโทษทัณฑ์ ก็สงสาร เล่นเอาหนาว ๆ ร้อน ๆ ไปทั้งสองฝ่าย ต่างไม่ลงรอยซึ่งกันและกัน ทำให้เจ้าชาตาเข็ดหลาบไปนาน เพราะจะให้โทษก็ไม่เชิง ให้คุณก็ไม่ใช่ กลายเป็นทุกข์ลาภไปเพราะทำให้สุดแสนจะทนทุกข์ทรมานเดือดร้อน กลุ้มใจ เศร้าโศกาหมองศรีไป พฤหัสบดีนี้โบราณาจารย์ถือกันต่าง ๆ มาจนทุกวันนี้ ถือกันว่าเป็นครู เยาวชนผู้เริ่มเข้าโรงเรียนมักจะตั้งต้นไปเข้ากันในวันพฤหัสบดี บูชาครูกันในวันพระพฤหัสนี้ทุกรายไป แม้ในโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งรัฐบาลและราษฎร์ในทุกวันนี้ พอขึ้นปีใหม่หรือเทอมใหม่ มักจะให้เด็กนักเรียนนำดอกไม้ธูปเทียนมาไว้ครูกันเสียครั้งหนึ่งในวันพระพฤหัสบดีนี้ พระพฤหัสบดีนี้เป็นดาวศุภเคราะห์
การใช้สีเครื่องแต่งกาย
แต่งกายพฤหัสบดีล้วนสีเหลือง (เลื่อมปภัสสร) (Light Yellow) ส่งกาญจนประเทืองเทียบแท้ ไพฑูรย์ รัตน์รองเรืองรั้งสฤษดิ์ ผาดผ่าน สังวาลพราวเพ็ชรรัตน์รุ่งเรือง จรัสจรูญ
พระบูชาวันเกิดวันพฤหัสบดี
คนใดเกิดวันพระพฤหัสบดี ควรมีพระพุทธรูปปางทรงประทับนั่งสมาธิ (โพธิบัลลังก์) บูชาจึงจะมีความสุขความเจริญรุ่งเรืองดี