พระธาตุประจำปีเกิด ปีระกา (ปีไก่) แห่งวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร

พระธาตุประจำปีระกา
พระธาตุประจำปีระกา

พระธาตุประจำปีเกิด ปีระกา (ปีไก่)

พระธาตุประจำปีเกิด


ขอบคุณข้อมูลจาก Ayurveda

พระธาตุ คือ พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และสถานที่ หรือ พระเจดีย์ที่มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุ ดังนั้น และในชีวิตของเรา ครั้งหนึ่งควรหาโอกาสเดินทางไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตนเอง เพื่อความเป็นสิริมงคลกับชีวิต


คติการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด
เมื่อคนเราตายไปดวงวิญญาณจะสิงสถิต ที่พระธาตุประจำปีเกิดของแต่ละคนก่อนที่จะไปเกิดเป็นมนุษย์เพราะฉะนั้นควรจะไปนมัสการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด เพื่อความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต

เพราะเหตุใด พระธาตุประจำปีเกิดจึงต้องอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ
ในสมัยก่อน อาณาจักรล้านนา ล้านช้าง และพม่า ต่างเป็นแว่นแคว้นข้างเคียงที่มีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกันมาก่อน การกำหนดให้มีการไหว้พระธาตุประจำปีเกิดจึงเป็นกลไกอย่างหนึ่งของการเดินทางติดต่อกันทำให้คนแต่ละเมืองที่อยู่ในเขตวัฒนธรรมเดียวกัน มีความสัมพันธ์ไปมาหาสู่กันได้อย่างใกล้ชิดขึ้น

หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พุทธศาสนิกชนต่างก็ให้ความสำคัญต่อ พระบรมสารีริกธาตุ หรือ กระดูกของพระพุทธเจ้า ซึ่งมักจะเรียกกันสั้น ๆ ว่า พระบรมธาตุ หรือ พระธาตุ เป็นอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นเศษส่วนจากพระวรกายที่เหลืออยู่ไม่มากนัก จึงทำให้ต้องเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ในสมัยโบราณมีการประดิษฐานพระบรมธาตุไว้ใต้เนินดินรูปครึ่งวงกลม แล้วปักฉัตรไว้ด้านบนเพื่อยกย่องและแสดงเกียรติยศของผู้ตายตามธรรมเนียมอินเดียโบราณ

ต่อมาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดและแจกจ่ายพระบรมสารีริกธาตุออกไปบูชายังเมืองต่าง ๆ ทำให้มีการสร้างสถูปบรรจุพระบรมธาตุขึ้นทั่วไป โดยมีรูปแบบแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น สถูปเจดีย์สำคัญของบ้านเมืองต่าง ๆ ล้วนได้รับการอธิบายว่าเป็นสถานที่บรรจุพระบรมธาตุ

ฉะนั้นบางครั้งจึงนิยมเรียกสถูปเจดีย์เหล่านั้นว่า พระธาตุ ซึ่งหมายถึง พระบรมธาตุซึ่งบรรจุอยู่ภายในสถูปเจดีย์นั่นเอง ดังนั้น การไหว้สถูปเจดีย์ ไม่ว่าจะมีรูปทรงงดงามแปลกพิศดารเพียงใดก็ตาม แต่หัวใจของการไหว้ที่แท้จริงแล้วก็คือ การกราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้าที่บรรจุอยู่ภายในสิ่งก่อสร้างเหล่านั้น ดังนั้น การสักการะจึงควรกระทำด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลศตัณหา และที่สำคัญ ต้องระลึกเสมอว่า พระบรมธาตุไม่ใช่ผู้บันดาลสิ่งต่าง ๆ จึงไม่ควรขอสิ่งใดนอกจากสวัสดิมงคล

ในล้านนาทำไมต้องห้ามผู้หญิงขึ้นบริเวณรอบพระธาตุเจดีย์
เนื่องจากในสมัยโบราณนิยมบรรจุพระบรมธาตุไว้ในกรุที่อยู่ใต้เจดีย์ เมื่อมีความเชื่อว่าผู้หญิงเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์จากการมีรอบเดือน ทำให้มีข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิงอยู่เหนือพระบรมธาตุ แม้ในระยะผิวดินด้านบนก็ตาม ไม่เช่นนั้น จะทำให้พระบรมธาตุเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์และไม่แสดงปาฏิหาริย์อีกต่อไป การห้ามไม่ให้ผู้หญิงขึ้นไปบริเวณรอบพระธาตุเจดีย์นั้น เป็นข้อปฏิบัติที่เข้าใจกันดีในหมู่ชาวล้านนา ป้ายที่ติดไว้ตามศาสนสถานสำคัญ ๆ ของชาวล้านนาจึงมีไว้เตือนคนต่างถิ่นให้ทราบและปฏิบัติตาม

 

ปีระกา (ปีไก่) – พระธาตุหริภุญไชย (ลำพูน)

พระธาตุประจำปีเกิด
zoom

ปีระกา เป็นปีที่สิบของปีนักษัตร (ธาตุทอง) มีสัญลักษณ์เป็นรูป "ไก่" พระธาตุประจำปีนี้เป็นพระธาตุหริกุญชัย อ.เมือง จ. ลำพูน ศิลปกรรมล้านนา สกุลช่างเมืองลำพูนนี้มีทั้งที่เป็นแบบนี้ปรากฎอิทธิพลลพบุรี (ละโว้) และที่มีอิทธิพลเมืองใหม่ ซึ่งวัดพระธาตุหริกุญชัย จะมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมในแบบหลัง ซึ่งจะมีลักษณะที่งดงามและลงตัว

ประวัติพระธาตุหริภุญชัย (วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จ.ลำพูน) เป็นปูชนียสถานสำคัญยิ่งแห่งหนึ่งในภาคเหนือ และเป็นมิ่งขวัญของชาวลำพูน ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุหริภุญชัย ในกลางเมืองลำพูน ภายในวัดเป็นลานกว้าง มีวิหารหลายหลัง หอระฆังสวยงาม ปรากฏในตำนานว่า สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าอาทิตยราช กษัตริย์นครหริภุญชัยราว พ.ศ.1586 ต่อมาได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุนี้อีกหลายครั้งในรัชกาลพระเจ้าติโลกราชเมื่อ พ.ศ.1986 ได้โปรดให้เสริมพระธาตุเป็น 23 วา ฐานกว้าง 12 วา 2 ศอก ยอดมีฉัตร 7 ชั้น

หลังจากนั้นพระเมืองแก้วได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์และสร้างระเบียงหอก ซึ่งเป็นรั้วล้อมพระธาตุ 500 เล่ม แล้วทรงสร้างวิหารหลวง และใน ปีพ.ศ.2329 พระเจ้ากาวิละได้ทรงทำการบูรณะพระบรมธาตุ และทรงสร้างฉัตรหลวงขึ้น 4 มุม และสร้างฉัตรยอดเจดีย์ด้วยทองคำเป็น 9 ชั้น ฐานพระธาตุเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ 10 วา และสร้างรั้วทองเหลืองล้อมรอบองค์เจดีย์ด้านในองค์พระธาตุเป็นสีทองอร่ามเป็นที่ต้องตาต้องใจนักท่องเที่ยวต่างเมืองผู้มีโอกาสได้ไปเยือนยิ่งนัก ทางจังหวัดลำพูนได้จัดให้มีงานนมัสการประจำปีขึ้นในวันเพ็ญ เดือน 6 ซึ่งก็คือวันวิสาขบูชา

คำบทสวดบูชาพระธาตุหริภุญชัย ประจำปีระกา (ตั้งนโม 3 จบ)

สุวัณณะเจติยัง หะริภุญชะยัฐฐัง
วะระโมลีธารัง อุรัฎฐิเสฎฐัง
สะหะอังคุลิฎฐิง กัจจายะเนนา
นิตะปัตตัปปะการัง สีเสนะ
มัยหัง ปะระมามิธาตุง