พระธาตุประจำวันอาทิตย์ | พระธาตุพนม

พระธาตุประจำวันอาทิตย์ | พระธาตุพนม


พระธาตุประจำวันอาทิตย์

ขอบคุณข้อมูลจาก Kapook.com

การไหว้พระธาตุประจำวันเกิดหรือประจำปีเกิด ถือเป็นการเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตของผู้กราบบูชาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการบูชาพระธาตุ ซึ่งเป็นสถานที่บรรจุ “พระบรมสารีริกธาตุ” ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะนำมาซึ่งความสุข และความเจริญ แก่ผู้ที่บูชา รวมถึงอานิสงส์ผลบุญที่ได้จากการกราบบูชา ยิ่งถ้าหากผู้ใดบูชาด้วยจิตใจที่ศรัทธาอันบริสุทธิ์ และหมั่นไปกราบนมัสการเมื่อมีโอกาส ด้วยอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุ จะดลบันดาลให้เกิดสิ่งดี และความเป็นสิริมงคลให้กับผู้กราบไหว้บูชา


ในจังหวัดนครนพม ซึ่งจัดเป็นเมืองแห่งพระธาตุ เกือบทุกอำเภอจะมีวัดที่เป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุอยู่มากมาย และแต่ละพระธาตุ นั้น ยังมีความเชื่อว่า เป็นพระธาตุประจำวันเกิด ถ้าคุณได้มีโอกาสไปที่จังหวัดนครพนม หาเวลาไปกราบสักการะพระธาตุประจำวันเกิดของคุณ หรือกราบสักการะทั้ง 7 แห่ง เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของตัวคุณ

“พระธาตุประจำวันอาทิตย์”

พระธาตุประจำวันอาทิตย์ คือ “พระธาตุพนม” ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม ซึ่งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 53 กิโลเมตร ซึ่งพระธาตุพนม เป็นพระธาตุที่อยู่คู่บ้านคู่เมือง และภายในขององค์พระธาตุพนม บรรจุ “พระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอก ของพระพุทธเจ้า” ซึ่งพระธาตุพนมสร้างขึ้น เมื่อประมาณ พุทธศักราช 1200 – 1400 โดยมีลักษณะของสถาปัตยกรรม มีแหล่งที่มาเดียวกับ ปราสาทขอม

“พระธาตุพนม” ผ่านการบูรณะมาหลายครั้ง ซึ่งเคยทรุดลงมาทั้งองค์ เมื่อประมาณ พุทธศักราช 2518 แต่ได้รับการบูรณะใหม่ ตามแบบเดิม ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม ความสูงประมาณ 53.60 เมตร และตั้งอยู่บนฐานที่เป็นสี่เหลียม มีความกว้างด้านละประมาณ 12.33 เมตร โดยบนยอดขององค์พระธาตุพนม จะเป็นฉัตรทองคำ ที่มีน้ำหนักถึง 110 กิโลกรัม

ตามคติของความเชื่อ “พระธาตุพนม” เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคน “ปีวอก หรือ ปีลิง” และยังเป็นพระธาตุประจำวันเกิด ของผู้ที่เกิดในวันอาทิตย์อีกด้วย มีความเชื่อว่า ผู้ที่ได้ไปกราบสักการะจะได้รับอานิสงส์ผลบุญบารมีมาก และจะช่วยให้ตัวเองมีคนเคารพนับถือ

คาถาบูชาดวงสำหรับคนที่เกิดวันอาทิตย์ คือ อะ วิช สุ นุส สา นุต ติ ชื่อคาถาพระนารายณ์แปลงรูป ใช้ในทางเมตตามหานิยม โดยสวดวันละ 6 จบ

ส่วนสิ่งของที่ผู้คนนำไปกราบบูชาพระธาตุพนม ได้แก่ ข้าวตอก น้ำอบ ข้าวเหนียวปิ้ง ดอกไม้สีแดง ธูปจำนวน 6 ดอก และเทียนจำนวน 2 เล่ม